วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการทำนิติกรรมของสภาตำบล พ.ศ. ๒๕๓๘

                                               ระเบียบกระทรวงมหาดไทย
                                         ว่าด้วยการทำนิติกรรมของสภาตำบล
                                                       พ.ศ. ๒๕๓๘
                                                     ------------------

   อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้


   ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการทำนิติกรรมของสภาตำบล พ.ศ. ๒๕๓๘"

   ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

   ข้อ ๓ ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจตีความหรือวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้

   ในกรณีมีเหตุสมควร ปลัดกระทรวงมหาดไทยอาจยกเว้นผ่อนผันการปฏิบัติตามความในระเบียบนี้

   ปลัดกระทรวงมหาดไทยอาจมอบอำนาจการยกเว้นหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามความในระเบียบนี้
 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้


                                                              หมวด ๑
                                          ผู้มีอำนาจทำนิติกรรมแทนสภาตำบล
                                                        -----------------

   ข้อ ๔ ในการทำนิติกรรมของสภาตำบลให้ประธานสภาตำบล เลขานการสภาตำบลและสมาชิกสภาตำบลผู้ได้รับเลือกอีกหนึ่งคน เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนสภาตำบล

   ข้อ ๕ เมื่อประธานสภาตำบลเรียกประชุมสมาชิกสภาตำบลตามความในข้อ ๔ แห่งข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการประชุมสภาำตำบล พ.ศ. ๒๕๓๘ ให้สภาตำบลเลือกสมาชิกสภาตำบลจำนวนหนึ่งคน เป็นผู้แทนของสภาตำบล ประธานสภาตำบลไม่มีสิทธิได้รับเลือก
    วิธีเลือกสมาชิกสภาตำบลตามความในวรรคหนึ่ง สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกที่ตนเห็นสมควรได้หนึ่งชื่อ คำเสนอนั้นต้องมีสมาชิกรับรองอย่างน้อยสองคน ชื่อที่เสนอไม่จำกัดจำนวนให้เลือกจากชื่อเหล่านั้น โดยวิธีเขียนชื่อลงคะแนน เมื่อตรวจนับแล้วให้ประธานสภาตำบลประกาศคะแนนต่อที่ประชุมผู้ไดคะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้าได้คะแนนสูงสุดเท่ากันตั้งแต่สองชื่อขึ้นไป ให้เลือกให้มีเฉพาะชื่อที่ได้คะแนนเท่ากัน แต่ถ้าคะแนนสูงสุดเท่ากันอีก ก็ให้ประธานสภาตำบลออกเสียงชี้ขาด
   ในการตรวจนับคะแนน ให้เลขานุการสภาตำบลเชิญสมาชิกไม่น้อยกว่าสามคนมาช่วย ถ้ามีการเสนอชื่อเพียงชื่อเดียวให้ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือก
   ใหประธานสภาตำบลเสนอชื่อสมาชิกสภาตำบลผู้ได้รับเลือกให้นายอำเภอแต่งตั้งภายในเจ็ดวันนับแต่วันเลือก

   ข้อ ๖ ผู้แทนของสภาตำบล ที่ได้รับเลือกตามข้อ ๕ แห่งระเบียบนี้ย่อมพ้นจากตำแหน่งผู้แทนของสภาตำบล เมื่อ
   (๑) พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาตำบลตามวาระ
   (๒) พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาตำบลตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗
   (๓) สภาตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งผู้แทนของสภาตำบลด้วยคะแนนเสียงสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาตำบลทั้งหมด
   (๔) เป็นบุคคลที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลาย
   (๕) ต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

   ข้อ ๗ เมื่อตำแหน่งผู้แทนของสภาตำบลตามความในข้อ ๖ ว่างลง ให้ประธานสภาตำบลเรียกประชุมสภาตำบลเพื่อเลือกผู้แทนของสภาตำบลแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบการว่าง

   ข้อ ๘ ถ้ามีตำแหน่งว่างลงในจำนวนของผู้แทนของสภาตำบลและมีเหตุอันควรเชื่อว่าการปล่อยตำแหน่งว่างไว้น่าจะเกิดความเสียหาย นายอำเภอโดยความเห็นชอบของสภาตำบลจะแต่งตั้งผู้แทนของสภาตำบลชั่วคราวแทนตำแหน่งที่ว่างนั้นก็ได้


                                                    หมวด ๒
                                                    นิติกรรม
                                              --------------------

   ข้อ ๙ นิติกรรมใดของสภาตำบลซึ่งผู้แทนของสภาตำบลลงนามไม่ครบจำนวนสามคน ตามข้อ ๔ นิติกรรมนั้นไม่มีผลผูกพันสภาตำบล

   ข้อ ๑๐ นิติกรรมของสภาตำบลซึ่งได้กระทำขึ้นภายในขอบอำนาจหน้าที่ของสภาตำบลตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.๒๕๓๗ ย่อมมีผลผูกพันสภาตำบล

   ข้อ ๑๑ ในการทำนิติกรรมของสภาตำบล ผู้แทนของสภาตำบลจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นลงชื่อแทนในนิติกรรมหาได้ไม่


   ข้อ ๑๒ ห้ามมิให้ผู้แทนของสภาตำบลตามข้อ ๙ เข้าไปมีส่วนได้เสียในนิติกรรมของสภาตำบล

   ข้อ ๑๓ นิติกรรมใดอื่นเกี่ยวกับทรัพย์สินของสภาตำบล ดังต่อไปนี้ ผู้แทนของสภาตำบลจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากสภาตำบล
   (๑) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนองหรือโอนสิทธิ์จำนอง ซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

   (๒) กระทำให้สิ้นสุดทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งทรัพย์สิทธิของสภาตำบลอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

   (๓) ก่อตั้งหรือกระทำให้สิ้นสุดลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอมสิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันใดในอสังหาริมทรัพย์

   (๔) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิ์เรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิทธิในอสังหาริมทรัพย์
 หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของสภาตำบลปลอดจากทรัพย์สิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
 
   (๕) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์
   (๖) ก่อข้อผูกพันใด ๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (๑) (๒) หรือ (๓)
   (๗) ให้กู้ยืมเงิน
   (๘) ให้โดยเสน่หา
   (๙) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันหรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
   (๑๐) ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้สภาตำบลต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้สภาตำบลต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
   (๑๑) ประนีประนอมยอมความ
   (๑๒) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยสามคน ตามข้อ ๔ นิติกรรมนั้นไม่มีผลผูกพันสภาตำบล
 
   ข้อ ๑๔ การปฏิบัติงานของสภาตำบล หากมีกฎหมายหรือระเบียบอื่นกำหนดในเรื่องการทำนิติกรรมของสภาตำบลไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ก็ให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบนั้น

   ข้อ ๑๕ การทำนิติกรรมของสภาตำบล หากไม่มีกำหนดไว้ในระเบียบนี้ก็ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยนิติกรรมและสัญญาแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม

                                                         หมวด ๓
                           ความรับผิดของสภาตำบลและผู้แทนของสภาตำบล
                                                  --------------------

   ข้อ ๑๖ การกระทำนิติกรรมตามหน้าที่ของผู้แทนของสภาตำบลเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น สภาตำบลจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นแต่ไม่เสียสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ก่อความเสียหาย
   ถ้าความเสียหายแก่บุคคลอื่นเกิดจากการกระทำที่ไม่อยู่ในขอบอำนาจหน้าที่ของสภาตำบล ผู้แทนของสภาตำบลซึ่งเป็นผู้กระทำการดังกล่าว ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหาย

   ข้อ ๑๗ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใชบงคบแกความเกยวพนระหวางสภาตาบลกบผแทนของสภาตาบล และระหวางสภาตำบลหรือผู้แทนของสภาตำบลกับบุคคลภายนอกโดยอนุโลม

                                                            เบ็ดเตล็ด
                                                       -------------------

   ข้อ ๑๘ หากสภาตำบลเห็นสมควรยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้สภาตำบลเสนอเหตุผลต่อนายอำเภอ เพื่อขออนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด

      ประกาศ ณ วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘
                 พลตร สนั่น  ขจรประศาสน์

            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น